apple stories
พบกับ 3 ผู้ชนะการแข่งขัน Swift Student Challenge ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากครอบครัวในการเปลี่ยนแปลงอนาคตด้วยการเขียนโค้ด
การแข่งขัน Swift Student Challenge ประจำปีของ Apple ให้การยกย่องการเขียนโค้ดที่ดีที่สุดโดยนักเรียน และในปีนี้ Apple ยังได้เพิ่มหมวดหมู่ใหม่เข้ามาในการจัดอันดับอีกด้วย นักเรียน 50 คนจากผลงานที่ชนะการประกวด 350 รายการ ถูกคัดเลือกให้ได้รับรางวัล Distinguished Winner จากการสร้าง App Playground ที่มีความโดดเด่นในด้านนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ ผลกระทบทางสังคม หรือการไม่แบ่งแยก โดยนักเรียนทั้ง 50 คน ได้รับเชิญให้ไปสัมผัสประสบการณ์จริงเป็นเวลา 3 วันเต็มที่ Apple Park ซึ่งรวมถึงโปรแกรมที่ออกแบบมาโดยเฉพาะและกิจกรรมพิเศษในการประชุม Worldwide Developers Conference (WWDC) ประจำปีนี้ และพวกเขายังจะได้ร่วมงานกับนักสร้างสรรค์ที่มีแนวคิดแบบเดียวกันจากทั่วทุกมุมโลกอีกด้วย
“เป็นอีกครั้งที่ผลงานชนะเลิศของ Swift Student Challenge ในปีนี้ได้แสดงให้เห็นถึงมิติของความเป็นไปได้ที่ครอบคลุมและลึกซึ้ง เมื่อคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ ใช้การเขียนโค้ดเพื่อสร้างจุดยืนของตัวเองบนโลกใบนี้” Susan Prescott รองประธานฝ่าย Worldwide Developer Relations ของ Apple กล่าว “เรายังภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับเหล่านักพัฒนารุ่นเยาว์ที่มีความโดดเด่นกว่าครั้งไหนๆ มายัง Apple Park เพื่อเชื่อมต่อกับทีมของเราและเพื่อนนักพัฒนาคนอื่นๆ ในขณะที่พวกเขา มุ่งหน้าสร้างแอปฯ ที่จะเปลี่ยนแปลงอนาคตของเราให้ดีขึ้น”
ผู้ชนะในปีนี้มาจากทั่วทุกมุมโลก โดยเป็นตัวแทนของกว่า 35 ประเทศและภูมิภาค App Playground จำนวนมากถูกจุดประกายขึ้นจากเรื่องราวส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือผู้คนในชุมชนหรืองานอดิเรกที่พวกเขาชื่นชอบ สำหรับ Distinguished Winner อย่าง Elena Galluzzo, Dezmond Blair และ Jawaher Shaman นั้น แรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นก็มาจากครอบครัวของพวกเขาเช่นกัน และพวกเขาก็หวังว่าวันหนึ่ง แอปฯ ของพวกเขา จะสามารถสร้างผลกระทบต่อผู้อื่นได้
Elena Galluzzo วัย 22 ปี ใช้เวลาระหว่างวอเตอร์ลู ออนแทรีโอ ซึ่งเธอกำลังจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย Wilfrid Laurier และบ้านของครอบครัวในย่านชานเมืองของโทรอนโต เธออาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นกับพ่อแม่ พี่สาว และตายายซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับแอปฯ Care Capsule ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศนี้
“คุณยายของฉันป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ระยะสุดท้าย และต้องการการดูแลแบบเต็มเวลา” Galluzzo กล่าว “และนี่ก็เป็นเรื่องยากสำหรับคุณตาของฉันด้วย เพราะมันทำให้เขาค่อนข้างเหงา แม้จะอาศัยอยู่กับลูกๆ หลานๆ ก็ตาม ซึ่งผู้สูงอายุส่วนมากไม่ได้เป็นเช่นนั้น แคนาดาเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ดังนั้น ฉันคิดว่าการมองหาวิธีที่เราสามารถช่วยเหลือผู้คนในวัยนี้ต่อไปเป็นสิ่งสำคัญมาก และการเขียนโค้ดก็เป็นวิธีหนึ่งที่ฉันสามารถมีส่วนร่วมได้”
Elena Galluzzo ออกแบบแอปฯ Care Capsule ขึ้นมาเพื่อเป็นผู้ช่วยแบบครบวงจรสำหรับผู้สูงอายุ เธอใช้เฟรมเวิร์กการเรียนรู้ของระบบของ Apple ในการสร้าง ML เพื่อสร้างแชทบอทที่จะวิเคราะห์การโต้ตอบกับผู้ใช้ แล้วตรวจสอบว่าพวกเขากำลังเผชิญกับความเหงาหรือมีภาวะซึมเศร้าหรือไม่ แอปฯ นี้ยังช่วยให้ผู้ใช้ติดตามการทานยา เชื่อมต่อกับแหล่งข้อมูลในชุมชน และเก็บบันทึกความทรงจำดีๆ ได้อีกด้วย
หลังจากที่ Galluzzo สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาด้านธุรกิจในฤดูใบไม้ผลินี้ เธอหวังว่าจะได้เผยแพร่แอปฯ Care Capsule บน App Store ซึ่งอาจมีการใส่สิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมงาน WWDC24 ในเดือนมิถุนายนลงไปด้วย
“การได้พบปะผู้คนที่มีความหลงใหลแบบเดียวกับฉันเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นมาก” เธอกล่าว “ฉันยังตั้งตารอที่จะได้เห็นเฟรมเวิร์กใหม่ๆ และได้เรียนรู้ว่าจะใช้งานมันยังไงได้บ้าง ฉันคิดว่ามันเจ๋งมากที่เราสามารถสร้างอะไรซักอย่างโดยใช้ประโยชน์จากฟังก์ชั่นการทำงานที่อยู่บนอุปกรณ์ของคุณ และช่วยแก้ปัญหาที่สำคัญไปพร้อมๆ กันได้”
Dezmond Blair วัย 22 ปี เติบโตในเมืองแคนตัน รัฐมิชิแกน และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการปั่นจักรยานเสือภูเขากลางแจ้งกับน้องชายของเขา ครอบครัวของเขามีคอมพิวเตอร์มือสอง แต่พวกเขาไม่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้
“การเติบโตมาในลานจอดรถเทรลเลอร์ทำให้ผมตั้งใจมากๆ ในการรักษาเกรดทุกวิชาให้ดี เพราะตอนเด็กๆ พ่อกับแม่เคยบอกผมว่า 'ลูกจะไม่โตมาเป็นแบบเราตอนนี้แน่นอน'” Blair กล่าว “พวกเขาใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อทำให้แน่ใจว่าผมจะไม่ต้องดิ้นรนแบบเดียวกับที่พวกเขาทำ และนั่นคือที่มาของแรงบันดาลใจและความหลงใหลของผม”
เขาตั้งใจเรียนอย่างหนักในโรงเรียนมัธยมและค้นพบว่าตัวเองมีความสามารถพิเศษด้านเทคโนโลยี และในที่สุด เขาก็ได้รับอนุปริญญาสาขาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เมื่อปีที่แล้ว Blair เริ่มเรียนที่ Apple Developer Academy ในดีทรอยต์ ซึ่งทำให้เขาได้รู้จักกับภาษาการเขียนโค้ด Swift ของ Apple และความรู้นี้ก็ได้นำไปสู่การสร้างแอปฯ iPad ที่ชนะรางวัลในชื่อว่า MTB XTREME โดยแอปฯ นี้จะช่วยให้ผู้ใช้ที่ปั่นจักรยานเสือภูเขามองเห็นมุมมองแบบ 360 องศาของเส้นทางรอบตัวพวกเขา วันหนึ่ง Blair ฝันว่าอยากจะเปิดตัวแอปฯ นี้ในเวอร์ชันที่สมจริงยิ่งขึ้นบน Apple Vision Pro
นอกเหนือจากการทำงานกับแอปฯ ของตัวเองแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ Blair ยังได้ก่อตั้งบริษัทของตัวเองที่รับช่วยออกแบบต้นแบบแอปฯ ซึ่งเขาตั้งชื่ออย่างชาญฉลาดว่า Easy Dez It แต่อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่สำคัญที่สุดในอนาคตของเขาก็อยู่ที่พ่อกับแม่
“วันหนึ่งผมอยากจะซื้อบ้านให้พวกเขา” Blair กล่าว “พวกเขาทำเพื่อผมและน้องชายมามากมาย ผมจึงอยากตอบแทนพวกเขาบ้าง”
Jawaher Shaman เติบโตในซาอุดีอาระเบียและมีความใกล้ชิดกับปู่ของเธอมาก แต่ปู่ของเธอเสียชีวิตตอนเธออายุได้ 5 ขวบ และไม่นานหลังจากนั้น เธอก็มีอาการพูดติดอ่างจนทำให้ร่างกายอ่อนแอลงเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป และด้วยความช่วยเหลือจากพ่อของเธอ เธอก็สามารถเรียนรู้วิธีจัดการมันได้และไม่พูดติดอ่างอีกต่อไป ขณะนี้ Shaman มีอายุ 27 ปีและกำลังศึกษาอยู่ที่ Apple Developer Academy ในเมืองริยาด เธอได้สร้างแอปฯ My Child ซึ่งเป็น App Playground ที่ชนะรางวัลขึ้นมาโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือคนอื่นๆ ที่มีปัญหาด้านการพูด
“พ่อไม่เคยทำให้ฉันรู้สึกแตกต่างไปจากคนอื่น และฉันหวังว่าแอปฯ ของฉันจะมอบความรู้สึกเช่นเดียวกันนี้ให้กับเด็กหรือเยาวชนที่ประสบปัญหาการพูดติดอ่าง” Shaman กล่าว “ฉันไม่อยากให้พวกเขารู้สึกว่าการพูดติดอ่างเป็นอุปสรรคที่พวกเขาไม่สามารถเอาชนะได้”
My Child บอกเล่าเรื่องราวของ Shaman ผ่านมุมมองของเด็กที่พูดติดอ่าง และนำเสนอตัวละครที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพ่อและปู่ของเธอเอง แอปฯ นี้จะแนะนำผู้ใช้ผ่านแบบฝึกหัดที่ช่วยให้หายใจอย่างผ่อนคลายมากขึ้น และเตรียมพร้อมสำหรับประสบการณ์ในชีวิตจริง เช่น การอ่านเรื่องราวหน้าชั้นเรียน Shaman ใช้ AVFAudio เพื่อเพิ่มเสียงโดยเลียนแบบวิธีที่พ่อของเธอจะแบ่งประโยคออกเป็นส่วนเล็กๆ ทำให้สามารถรับมือได้ง่ายขึ้น
หลังจากสำเร็จการศึกษา Shaman จะทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ในซาอุดีอาระเบีย โดยเธอยังต้องการเผยแพร่ My Child บน App Store และสร้างแอปฯ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป
“ฉันอยากจะใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยเด็กๆ ที่มีความบกพร่องทางระบบประสาท เพราะฉันเข้าใจดีว่าการรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมือนคนอื่นนั้นเป็นอย่างไร” Shaman กล่าว “สำหรับฉัน การเขียนโค้ดคือการเปิดประตูสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ และทำให้ฉันเข้าใกล้เป้าหมายของตัวเองไปอีกก้าว ซึ่งก็คือการช่วยเหลือผู้คนและสร้างผลกระทบที่ยั่งยืน”
Apple ภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนนักพัฒนา นักสร้างสรรค์ และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ผ่านโปรแกรมสำหรับนักเรียนในงาน WWDC ประจำปี โดยในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมานั้น มีนักเรียนหลายพันคนจากทั่วโลกที่สามารถสร้างเส้นทางอาชีพที่ประสบความสำเร็จ ก่อตั้งธุรกิจ และสร้างสรรค์องค์กรที่เน้นไปที่การทำให้ผู้คนเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียมและการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างอนาคตที่ดียิ่งขึ้น
แชร์บทความ
Media
-
เนื้อหาของบทความนี้
-
รูปภาพในบทความนี้