apple stories
AssistiveWare นำเทคโนโลยีการสื่อสารทางเลือกและการสื่อสารแทนคำพูดรุ่นถัดไปมาใช้
วิธีการที่บริษัทพัฒนาแอปอย่าง AssistiveWare สร้างสรรค์ซอฟต์แวร์ด้านการสื่อสารทางเลือกและการสื่อสารแทนคำพูด
ทุกๆ บ่าย Jay วัยเก้าปีพร้อมกับแม่ Meghan Ashburn และน้องชายฝาแฝด Nick จะไปที่หาดเวอร์จิเนียเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดจากแรงกระตุ้นที่เกิดจากการไปโรงเรียน ในบ้านของตนเอง และในยามออกไปสู่โลกภายนอก
เมื่อ Ashburn ถาม Jay ว่าทำไมเขาถึงชอบไปชายหาด เขาก็เลือกปุ่ม "พระอาทิตย์ตก" จากนั้นก็พูดว่า "ไม่ไปโรงเรียน ไปชายหาด"
ในปี 2015 Jay ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการออทิสติก พออายุได้ 4 ขวบ เขาก็เริ่มใช้ Proloquo2Go แอปการสื่อสารทางเลือกและการสื่อสารแทนคำพูด (AAC) ที่ใช้งานได้บน iPhone และ iPad ซึ่งสร้างสรรค์โดยบริษัทพัฒนาแอป AssistiveWare
"ชายหาดเป็นที่ซึ่ง Jay สามารถผ่อนคลายและได้สำรวจสิ่งต่างๆ ในแบบของเขา" Ashburn ให้อรรถาธิบาย "เราจะไปที่ชายหาดด้วยกันทั้งครอบครัวบ่อยที่สุดเท่าที่สภาพอากาศจะอำนวย เขาชอบเล่นทราย ชอบเกลียวคลื่น และพระอาทิตย์ตกอันงดงาม"
Proloquo2Go คือตัวตนของภารกิจของ AssistiveWare นั่นก็คือการทำให้ AAC เป็นการสื่อสารที่ทรงประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับ ผู้คนหลากหลายกลุ่มต่างนำเครื่องมือนี้ไปใช้เมื่อคนเหล่านั้นไม่สามารถที่จะเปล่งเสียงพูดออกจากปากได้ ซึ่งมีทั้งผู้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) สมองพิการ ออทิสติก และอื่นๆ
การนำเอาเทคโนโลยีนี้มาไว้ในอุปกรณ์ของ Apple เป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสำหรับผู้ใช้งาน AAC และสำหรับ David Niemeijer ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ AssistiveWare เมื่อ AAC สามารถใช้งานได้บนอุปกรณ์ของผู้บริโภค จำนวนของผู้คนที่สามารถซื้อและใช้เทคโนโลยีนี้ก็จะขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ช่วยในการเติบโตอย่างรวดเร็วของ AssistiveWare อีกด้วย
"หนึ่งในสิ่งที่สุดยอดที่สุดของ iPad และ iPhone ก็คือทั้งสองอย่างไม่ใช่อุปกรณ์ที่แยกจากกันโดยสิ้นเชิง" Niemeijer กล่าว "และก็ยังเป็นอุปกรณ์ดีๆ ที่ทุกคนสามารถใช้ได้ ซึ่งนั่นก็ถือว่าสร้างความแตกต่างได้อย่างมากแล้วในการยอมรับ แต่เราก็ยังมีงานอีกมากมายที่ต้องทำ"
แอป AAC รุ่นถัดไปของ AssistiveWare อันได้แก่ Proloquo และ Proloquo Coach เริ่มให้บริการเมื่อปี 2022 โดยนอกเหนือจากการสร้างคำพูด Proloquo ช่วยผู้ใช้ในการสร้างวลีหรือประโยคต่างๆ เรียนรู้คำที่เกี่ยวข้อง และขยายขอบเขตความรู้ด้านภาษาและไวยากรณ์ของตนเอง ส่วน Proloquo Coach ก็ช่วยให้ครอบครัวและนักการศึกษามีเครื่องมือที่ช่วยเหลือเด็กๆ และนักเรียนในการเรียนรู้
Proloquo มีเสียงอ่านข้อความที่เป็นเสียงเด็กและผู้ใหญ่จริงๆ 49 เสียง และคำ 12,000 คำ ซึ่งมากกว่าแอป AAC อื่นราวสามเท่า แอป AssistiveWare ยังรองรับ VoiceOver และการควบคุมสวิตช์ สำหรับผู้ใช้งานซึ่งตาบอดหรือสายตาเลือนราง หรือมีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหว
สำหรับผู้ใช้ AAC แล้ว Niemeijer เชื่อว่าการได้พบกับประสบการณ์ที่สามารถปรับแต่งเองได้ถือเป็นขั้นตอนสำคัญยิ่ง โดยคุณสมบัติการช่วยการเข้าถึงใหม่ของ Apple ที่เผยโฉมในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึง Assistive Access สำหรับผู้ที่พิการด้านการรับรู้ และ Personal Voice สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงในการสูญเสียความสามารถในการพูด ทำให้ผู้ใช้มีตัวเลือกมากขึ้นในการปรับแต่งประสบการณ์ของตนเองตามต้องการ
"เราตื่นเต้นเป็นอย่างมากที่จะได้ผสานรวมเทคโนโลยีเหล่านี้เอาไว้ในแอปของ AssistiveWare" Niemeijer กล่าว "เมื่อไม่นานมานี้เราได้เพิ่มการรองรับสำหรับเสียงที่ติดตั้งในตัวของ iOS ใน Proloquo เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเสียงที่เลือกได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น การแนะนำคุณสมบัติ Personal Voice มีศักยภาพในการทำให้ผู้ใช้ของเรามีตัวเลือกมากยิ่งขึ้น ในการปรับแต่งการสื่อสารของตนเองให้มีความเฉพาะตัว ซึ่งเมื่อรวมกับคุณสมบัติอย่าง Assistive Access ก็จะทำให้เรามีโอกาสเพิ่มมากขึ้นในการปรับแต่งประสบการณ์ของผู้ใช้ และช่วยให้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งแอปของตัวเองตามบุคลิกและความต้องการของตนเองได้ด้วย"
ทุกวันนี้ Jay ใช้ Proloquo และการสื่อสารรูปแบบอื่นๆ ในการพูดคุยกับครอบครัว ครู และเพื่อนๆ โดยผู้ใช้ Proloquo จำนวน 80 เปอร์เซ็นต์เป็นเด็กๆ ซึ่งมี Jay เป็นหนึ่งในผู้ใช้งานรายวันที่มีราว 100,000 รายของแอป และมีผู้ใช้งานโดยรวม 300,000 รายจากทั่วโลก
"ความตื่นตัวในเรื่อง AAC ในหมู่สาธารณชนทั่วไปจะเพิ่มขึ้นในอีกห้าปีข้างหน้า" Ashburn ผู้เคยสอนที่โรงเรียนระดับประถมมาก่อนกล่าวเช่นนั้น Jay เรียนอยู่ชั้นเรียนทั่วไปของชั้นประถมปีที่ 3 "ซึ่งนี่เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเขาพูดไม่ได้ และก็มีแนวโน้มที่จะถูกแยกตัวออกมา" เพื่อนร่วมชั้นประถม 3 ของ Jay จึงใช้ Proloquo เป็นหนึ่งในวิธีการโต้ตอบกับเขา
"ความสามารถในการแชร์ที่ไร้ขีดจำกัดของ Proloquo เป็นคุณสมบัติที่ฉันชื่นชอบที่สุด ทำให้ฉันสามารถสร้างทีม AAC ให้ Jay ได้ โดยครูของเขา ญาติๆ ของครอบครัว และแม้กระทั่งเพื่อนร่วมชั้นเรียนต่างก็เข้าถึง Proloquo ได้ฟรีบนอุปกรณ์ของตัวเอง" Ashburn เล่าต่อ "ฉันไม่อาจบรรยายได้หมดว่านั่นมีประโยชน์มากเพียงใด แต่ถือเป็นตัวพลิกสถานการณ์ในเรื่องการใช้ประโยชน์จาก AAC เลยทีเดียว"
ในปัจจุบัน Jay มีพัฒนาการเพิ่มมากขึ้นในการพูด และใช้ Proloquo เพื่อฝึกฝนการพูด โดยในการเรียนรู้คำใหม่ เขาจะกดปุ่มคำซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกระทั่งเขาสามารถเริ่มพูดคำหรือวลีนั้นได้ด้วยตัวเอง "ปิดประตู" เป็นวลีที่ Ashburn เล่าว่าได้ยินบ่อยมากในช่วงที่ Jay เริ่มเข้าสู่ช่วงก่อนวัยรุ่น
"ตัวเลือกของ AAC ส่วนใหญ่จะจำกัดคำที่เด็กสามารถเลือกได้" Ashburn กล่าว "แต่ Proloquo ก็มีคลังคำศัพท์ที่เยอะมากจน Jay สามารถเลือกได้เกือบจะทุกคำที่เขาต้องการ และคีย์บอร์ดที่ติดตั้งมาในตัวก็ทำให้ตัวเลือกของเขาไร้ขีดจำกัด"
ย้อนกลับไปที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ทีมนักวิจัยของ AssistiveWare ผู้เชี่ยวชาญด้าน AAC นักออกแบบ นักพัฒนา และวิศวกรประกันคุณภาพ พร้อมด้วยพนักงานในท้องถิ่น 27 คนและอีก 35 คนจากทั่วโลก ได้สร้างสรรค์เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์นี้ และผลักดันการวิจัยและการทำงานที่สนับสนุน AAC ให้ก้าวไปข้างหน้า "การวิจัยส่วนใหญ่ในสาขานี้มักมองที่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการเข้าแทรกแซงสำหรับคนๆ เดียว" Niemeijer ให้อรรถาธิบาย "แต่เราใช้ข้อมูลจากผู้ใช้ AAC นับพันซึ่งยินยอมให้ใช้งานโดยไม่ประสงค์ออกนามแทน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไป และการที่เรานำเอาข้อมูลเชิงลึกจากระดับที่กว้างขึ้นมาพิจารณา ก็นำไปสู่บทสนทนาอันน่าสนใจ"
การใช้งานเครื่องตามที่กำหนดของ Apple ซึ่งเป็นการตั้งค่าการช่วยการเข้าถึงซึ่งเปิดตัวมาตั้งแต่เมื่อสิบปีที่แล้วเพื่อจำกัดอุปกรณ์ให้ใช้เพียงแอปเดียว ทำให้ศักยภาพของแอปพัฒนาขึ้นอย่างมหาศาล "ก่อนหน้านั้น หนึ่งในความท้าทายที่ครอบครัวและโรงเรียนต้องเจอก็คือเด็กๆ จะเริ่มสื่อสารในแอป แล้วก็จะกระโดดออกมาเพื่อไปที่แอปอื่นต่อ" Niemeijer เล่า "การใช้งานเครื่องตามที่กำหนดทำให้สามารถโฟกัสไปเฉพาะที่การเรียนรู้และการสื่อสารได้"
การพัฒนาสำหรับระบบนิเวศของ Apple ก็เป็นอีกหนึ่งในข้อได้เปรียบ นั่นก็คือ Apple ให้การสนับสนุนซอฟต์แวร์เป็นเวลานานหลายปี ทำให้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับครอบครัวและโรงเรียน
"นี่ทำให้เรามีเวลาและพื้นที่ในการมุ่งเน้นไปที่การสร้างนวัตกรรม" Niemeijer บอก "ซึ่งวิธีนี้ทำให้ AssistiveWare ไม่ติดหล่มอยู่กับอดีต"
สำหรับผู้ใช้ AAC รุ่นถัดไป Niemeijer ก็หวังว่าการสื่อสารรูปแบบนี้จะกลายเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแบบเดียวกับการส่งข้อความ แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่าการพัฒนาเทคโนโลยีก็คือ การตีตราทางสังคมที่มีต่อ AAC ซึ่งถือเป็นอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับผู้ใช้
"ผมคิดว่าเรายังต้องเดินทางกันอีกยาวไกล" Niemeijer กล่าว "หากคุณไม่สามารถพูดได้ สิ่งที่ยังสรุปกันอยู่ก็คือคุณอาจไม่มีอะไรที่จะพูดมากนัก ซึ่งข้อสรุปเช่นนั้นคือปัญหาที่ใหญ่ที่สุด ผมหวังว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งนั้นด้วยเทคโนโลยีนี้ เพื่อที่จะสามารถสร้างผลกระทบอันยิ่งใหญ่ได้"
แชร์บทความ
Media
-
เนื้อหาของบทความนี้
-
รูปภาพในบทความนี้