apple stories
McIntosh S.E.E.D. ปกปักรักษาที่ดินและมรดกตกทอดร่วมกับเจ้าของที่ดินคนผิวดำทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา
Apple และกองทุนเพื่อการอนุรักษ์จับมือกับองค์กรระดับชุมชนในภูมิภาคเพื่อขยายแนวคิดการรักษาที่ดินอย่างยั่งยืนและความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในชุมชนคนผิวดำและผิวน้ำตาล
ทั่วทั้งดินแดนตอนใต้สุดของสหรัฐอเมริกามีความทรงจำมากมายฝังลึกอยู่ใต้ผืนดิน สำหรับ Junetta O'Neal ซึ่งเป็นเจ้าของ BoMax Ranch and Retreat ในครอว์ฟอร์ดวิลล์ รัฐจอร์เจีย นี่คือสิ่งที่ย้ำเตือนถึงบรรพบุรุษของเธอผู้ซึ่งตรากตรำบนผืนดินมาหลายชั่วอายุคน ก่อนที่จะรู้ตัวว่าตนหลงรักในธรรมชาติตอนที่ได้เห็นม้าตัวหนึ่งในครั้งแรก
"ครั้งแรกที่ฉันมาถึง BoMax สภาพแวดล้อมที่นี่ผ่อนคลายมาก ได้อยู่กับความสงบและได้อยู่กับธรรมชาติ" O'Neal อธิบาย "เหมือนสิ่งต่างๆ สื่อสารกับฉัน และฉันเองก็ตระหนักว่าบรรพบุรุษของฉันช่วยให้ฉันได้มายืนอยู่ ณ จุดนี้ในตอนนี้ ทั้งหมดในวันนี้ล้วนเกิดจากความตรากตรำของผู้คนในอดีต ฉันจึงตั้งชื่อถนนตามชื่อบุคคลเหล่านั้นเพื่อให้เกียรติแก่พวกเขา หลังจากที่มีโอกาสดูแลต้อนรับญาติของฉันและให้พวกเขาได้ลองสานสัมพันธ์กับผืนดิน ก็ยิ่งช่วยยืนยันว่าฉันมาถูกทางแล้วกับโปรเจ็กต์นี้ นั่นก็คือ การสร้างมรดกสืบทอดให้แก่ครอบครัวของเรา"
O'Neal เป็นผู้ลงทะเบียนในโครงการป่าไม้ที่ยั่งยืนและการรักษาที่ดินของ McIntosh S.E.E.D. โดยเธอและเจ้าของที่ดินอีก 20 คน ได้เดินทางไปยังป่าชุมชนของ McIntosh S.E.E.D. ในลองเคาน์ตี รัฐจอร์เจีย เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเพื่อเข้าร่วมเวิร์กช็อปการทำป่าไม้ ซึ่ง O'Neal เจ้าของที่ดินคนอื่นๆ รวมถึงลูกหลานของคนเหล่านั้นได้พบกับผู้เชี่ยวชาญด้านการทำป่าไม้ เพื่อศึกษาถึงประโยชน์ของการตัดขยายระยะ ความสำคัญของการกำจัดพุ่มไม้ และวิธีวัดและระบุสายพันธุ์ต้นไม้เพื่อจะได้เข้าใจถึงคุณค่าทางเศรษฐกิจของต้นไม้เหล่านั้น
ผืนป่ากว่า 2,903 ไร่ของ McIntosh S.E.E.D. ได้มาเมื่อปี 2015 ภายใต้ความร่วมมือกับกองทุนเพื่อการอนุรักษ์และถือเป็นป่าชุมชนแห่งแรกในสหรัฐอเมริกาที่คนผิวดำเป็นเจ้าของ องค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งนี้มีจุดมุ่งหมายในการเป็นกระบอกเสียงแก่เจ้าของที่ดินคนผิวดำและผิวน้ำตาลในการขับเคลื่อนเพื่อการอนุรักษ์
"เราต้องการสถานที่ซึ่งเราสามารถเชิญเจ้าของที่ดินมายังพื้นที่สาธิตโดยทุกคนจะได้เห็นแนวทางการปฏิบัติเพื่อการอนุรักษ์" Cheryl Peterson ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการของ McIntosh S.E.E.D. กล่าว "และทำให้เจ้าของที่ดินได้สัมผัสถึงศักยภาพด้วยตนเอง"
องค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่ในแมคอินทอชเคาน์ตี รัฐจอร์เจีย เป็นหนึ่งในหลายๆ องค์กรทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาที่กองทุนเพื่อการอนุรักษ์ซึ่งร่วมมือกับ Apple ได้ทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมการทำป่าไม้อย่างยั่งยืน การบรรลุความยุติธรรมทางเชื้อชาติ และการสร้างความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทาง McIntosh S.E.E.D. ใช้เวิร์กช็อป การฝึกอบรม และโปรแกรมที่ยึดชุมชนเป็นศูนย์กลางในการจัดทำกลยุทธ์ร่วมกันเพื่อการรักษาที่ดินของ BIPOC และปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติด้านสภาพภูมิอากาศที่สามารถขยับขยายออกไปได้ทั่วภูมิภาค ความพยายามที่อาศัยความร่วมมือจากครอบครัวที่เป็นเจ้าของฟาร์มและป่าไม้หลายพันครอบครัว และสถาบันคนผิวดำที่เป็นเจ้าของที่ดิน โดยเฉพาะโบสถ์และวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยอันเก่าแก่สำหรับคนผิวดำ จะช่วยให้สามารถจัดการและสนับสนุนแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปรับเปลี่ยนด้านที่ดินที่ครอบครองโดยเอกชน
"เพื่อเป็นการส่งเสริมความยุติธรรมและรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรร่วมกันและจับมือกับองค์กรต่างๆ ที่มีความชำนาญในพื้นที่อย่างแท้จริง" Lisa Jackson รองประธานฝ่ายโครงการด้านสิ่งแวดล้อม นโยบาย และกิจกรรมทางสังคมของ Apple กล่าว "ดิฉันเชื่ออยู่เสมอว่าแนวทางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดต้องมาจากใจกลางชุมชนที่เปราะบางมากที่สุด มิใช่มองข้ามผู้คนเหล่านั้น ดังเช่นการที่ครอบครัวต่างๆ ในสถานที่อย่างแมคอินทอชเคาน์ตีได้ร่วมมือกันอนุรักษ์ที่ดินให้ยั่งยืนแก่พวกเราทุกคน"
แมคอินทอชเคาน์ตีซึ่งตั้งอยู่ทางชายฝั่งตอนใต้ของรัฐจอร์เจียถือเป็นชุมชน BIPOC ทางตอนใต้หลายแห่งที่ทาง McIntosh S.E.E.D. ตั้งใจอนุรักษ์ไว้
"งานที่ได้เงินเดือนดีๆ หรืองานที่ให้ค่าจ้างเพียงพอต่อการกินอยู่ในแถบนี้มีจำนวนน้อยมากๆ" Peterson อธิบาย "ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากมากสำหรับผู้คนที่นี่ที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตครอบครัวตนเองเพราะถูกจำกัดระดับเอาไว้ในเชิงเศรษฐกิจ ดังเห็นได้ไม่ว่าจะในรัฐจอร์เจีย แอละแบมา หรือมิสซิสซิปปี พลวัตเหล่านั้นทั้งหมดเกิดขึ้นกับชุมชนชายขอบ"
ดาเรียนเป็นเมืองชายฝั่งของแมคอินทอชเคาน์ตี มีประชากรเพียงราว 1,500 คน โดยองค์กรไม่แสวงหากำไรได้ทุ่มเทสรรพกำลังในพื้นที่ทั้งในด้านการศึกษาและการเสริมสร้างศักยภาพให้ครอบครัวและเจ้าของที่ดินคนผิวดำในภูมิภาครอบๆ
งานในส่วนดังกล่าวครอบคลุมถึงการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากอากาศที่ร้อนแห้งแตกระแหงจนทำให้การเพาะปลูกเสียหาย ไปจนถึงพายุโซนร้อนและเฮอริเคนที่เกิดบ่อยขึ้นจนต้องมีการอพยพผู้คน
"ผู้คนต้องสูญเสียบ้านและย้ายที่อยู่เพราะไม่สามารถจ่ายค่าซ่อมแซมบ้านหลังเหตุการณ์น้ำท่วมหรือโดนต้นไม้ล้มใส่ที่อยู่อาศัยของตนเอง" Peterson กล่าว "ผลจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ทำให้ครอบครัวจำนวนมากอยู่บนวิถีที่อันตรายเพราะหากจำเป็นต้องอพยพ คนจำนวนมากก็ไม่สามารถแบกรับภาระการย้ายที่อยู่อาศัยได้ ยิ่งสภาพอากาศอันโหดร้ายเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ก็ยิ่งสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ของเราโดยเฉพาะบรรดาผู้ที่อาศัยอยู่แถบชายฝั่ง"
แม้ McIntosh S.E.E.D. จะเริ่มดำเนินการในปี 1998 โดยเน้นไปที่ความต้องการอันเจาะจงของเคาน์ตีบริเวณชายฝั่ง แต่ Peterson และ John Littles ซึ่งเป็นกรรมการบริหารมีความฝันที่จะขยายการทำงานออกไปให้ช่วยยกระดับชุมชนทั่วทั้งดินแดนตอนใต้สุดได้มากขึ้น
"เราไม่ต้องการดำเนินงานในลักษณะที่มีการขัดแข้งขัดขากันเองเมื่อคนหนึ่งลุกขึ้นตั้งตัวได้แต่กลับถูกคนอื่นๆ ฉุดรั้งไว้" Peterson กล่าว "เราอยากเกี่ยวแขนกันไปและช่วยเหลือคนและชุมชนชายขอบให้ได้มากที่สุด โดยยังคงดำเนินการภายใต้หลักการที่เป็นแนวทาง"
ระหว่างการทำงานในช่วงแรกกับเกษตรกรและเจ้าของที่ดิน ทั้ง Littles และ Peterson ได้เดินทางลงใต้ไกลออกไปทั่วทั้งรัฐจอร์เจีย มิสซิสซิปปี และแอละแบมา จนเริ่มสังเกตเห็นความแตกต่างของที่ดินป่าไม้ในเขตที่ส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาวซึ่งมีความมั่งคั่งมากกว่า เมื่อเทียบกับชุมชนที่ส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำซึ่งมีความเป็นอยู่อย่างอัตคัต
ระหว่างการค้นคว้าทรัพยากรเพื่อการบริหารจัดการที่ดินสำหรับเจ้าของที่ดินซึ่ง McIntosh S.E.E.D. ได้ร่วมงานด้วยอยู่แล้ว Littles ก็ได้ตระหนักว่าความทรุดโทรมที่เกิดขึ้นกับที่ดินในชุมชน BIPOC ไม่ได้เป็นเพียงเพราะการขาดความรู้ความเข้าใจ แต่ยังเป็นเรื่องวัฒนธรรมด้วย
"ชุมชนของเรามองที่ดินเป็นภาระ ไม่ใช่สินทรัพย์" Littles อธิบาย "เรายังได้ทราบถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในชุมชนของเราด้วย พวกเขาให้ราคาไม้ที่ไม่เป็นธรรมหรือให้จำนวนเนื้อที่ไม่ถูกต้อง และกระทั่งทำลายภูมิทัศต์ตอนที่พวกเขาลงมือตัดไม้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดูไม่ดีทั้งต่อชุมชนของเราและสิ่งแวดล้อม"
ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา McIntosh S.E.E.D. ได้จัดมือกับกองทุนเพื่อการอนุรักษ์ แสวงหาโอกาสเพื่อการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนผ่านการปกป้องที่ดินซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อธรรมชาติและชุมชนรอบข้าง
"การสูญเสียป่าไม้ทั้งจากการพัฒนาและการเปลี่ยนผืนป่าเพื่อประโยชน์ด้านอื่นทำให้เกิดคาร์บอนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ" Evan Smith รองประธานอาวุโสฝ่ายการร่วมลงทุนเพื่อการอนุรักษ์ของกองทุนเพื่อการอนุรักษ์กล่าว "อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังลดศักยภาพของผืนดินในการปรับเปลี่ยนและรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"
สำหรับพื้นที่ทางตอนใต้ การรับมือกับความอยุติธรรมในชุมชนคนผิวดำและผิวน้ำตาลเป็นกุญแจสำคัญ
"ดินแดนตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาเสมือนเจอปัญหาสองต่อ โดยเป็นหนึ่งในแหล่งปล่อยคาร์บอนขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ซึ่งยังเป็นผลจากการสูญเสียป่าไม้ที่ถือเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" Smith อธิบาย "ขณะเดียวกันประชากรเหล่านี้ก็สุ่มเสี่ยงอย่างมากต่อการถูกไล่ที่และได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"
ระหว่างที่กองทุนเพื่อการอนุรักษ์ได้เริ่มมองหาโอกาสในดินแดนตอนใต้ ก็ได้เล็งเห็นถึงความพยายามของ McIntosh S.E.E.D. ในการจัดการกับปัญหาด้านชนชาติ สิ่งแวดล้อม และชุมชนที่มีมิติทับซ้อนกัน โปรแกรมพื้นฐานของ McIntosh S.E.E.D. ออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนในพื้นที่ ช่วยให้ผู้คนได้เข้าใจและสามารถจัดการกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในบ้านเกิดของตนเอง เข้าถึงทรัพยากรทางธรรมชาติ และให้ความรู้และศักยภาพแก่เจ้าของที่ดินพร้อมด้วยเครื่องมือที่จำเป็นต่อการดูแลครอบครองดังกล่าว
"เมื่อผู้คนมีฐานะไม่ดี ก็ทำให้พวกเขาละเลยปัญหาจำนวนมาก เพราะต้องเผชิญกับอุปสรรคอื่นๆ อีกมากมาย" Littles อธิบาย "ดังนั้นจึงเริ่มต้นด้วยการศึกษาเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศว่าจะส่งผลกับผู้คน ที่ดิน และชุมชนอย่างไร อีกทั้งยังพูดถึงวิธีที่เราในฐานะเจ้าของที่ดินมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทำอย่างไรให้สามารถดูแลสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น"
Peterson เรียกความสนใจจากผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปในป่าชุมชน และพูดกับคนหนุ่มสาวเกี่ยวกับหน้าที่ของแต่ละคนที่มีต่อที่ดินของครอบครัวเมื่อได้รับมรดกตกทอด เธอดูกลมกลืนกับป่า ตระหนักถึงประโยชน์และคุณค่า ตลอดจนความสำคัญในการเก็บรักษาที่ดินเพื่อผู้คนยุคอนาคต
"เดิมทีเรามีผู้เชี่ยวชาญการทำป่าไม้ที่เป็นคนผิวดำไม่มากนัก" Peterson อธิบาย "เราต้องการทำป่าไม้และอยากให้เด็กๆ รู้จักกับเรื่องนี้เพื่อที่จะได้เป็นตัวเลือกการจ้างงานในอนาคตหากพวกเขาสนใจที่จะเดินบนเส้นทางดังกล่าว แต่จะทำให้เกิดขึ้นได้ก็ต้องมีสายสัมพันธ์กับผืนดินดังกล่าวเสียก่อน"
ความตั้งใจของ Peterson ในการยกระดับครอบครัวและชุมชนได้มาจากบรรพบุรุษของเธอผู้ซึ่งปลูกฝังให้เธอมีนิสัยคอยให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น "เธอสอนให้เราเห็นความสำคัญของการแบ่งปัน" เธอทบทวนคำพูดของย่าทวดซึ่งบรรจงแบ่งหมากฝรั่งหนึ่งชิ้นออกเป็นชิ้นเล็กๆ ให้พอแบ่งแก่ Peterson และลูกพี่ลูกน้องอีก 12 คน เรื่องดังกล่าวจะได้รับการเล่าขานในงานรวมญาติอีกหลายยุคหลายสมัยเพื่อเตือนใจให้ตระหนักถึงการให้ แม้ว่าครอบครัวของเราจะมีไม่มากก็ตาม
"ฉันไม่สามารถมีชีวิตอยู่ที่นี่ไปได้ตลอดกาล" Peterson กล่าว "ดังนั้นการถ่ายทอดความรู้เป็นสิ่งที่ทำให้ฉันมั่นใจว่าแม้จะจากไปนานเพียงใด แต่คนรุ่นใหม่ก็จะยังคงรักษาผืนดินเอาไว้ได้ ปู่ทวดของฉันทำงานในธุรกิจเยื่อกระดาษ และสิ่งที่ครอบครัวของฉันมีอยู่ในวันนี้ก็เป็นผลจากความอุตสาหะของปู่ทวดในวันนั้น มือที่หยาบกระด้างของเขา ตลอดจนครอบครัวอื่นๆ จำนวนมากที่บรรบุรุษมีมือที่หยาบกระด้างและแผลเป็นบนหลัง พวกเขายอมทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้พวกเราได้มีที่ดินในวันนี้ ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับพวกเราในการสืบสานมรดกตกทอดดังกล่าวต่อไป
แชร์บทความ
Media
-
เนื้อหาของบทความนี้
-
รูปภาพในบทความนี้