ฟีเจอร์
22 กรกฎาคม 2563
Apple, ครีเอทีฟ และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนพิการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวันครบรอบ 30 ปีของพระราชบัญญัติว่าด้วยชาวอเมริกันที่มีความทุพพลภาพ
นับตั้งแต่ก่อตั้ง Apple เป็นผู้บุกเบิกในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทรงพลังผ่านผลิตภัณฑ์และบริการที่ออกแบบมาสำหรับทุกคน ตั้งแต่ VoiceOver และข้อความเป็นเสียงพูด ไปจนถึงการสั่งการด้วยเสียง การควบคุมสวิตช์ และแม้กระทั่ง Siri ทุกผลิตภัณฑ์และบริการในระบบนิเวศของ Apple ออกแบบมาโดยคำนึงถึงการช่วยการเข้าถึงในตัว
Dean Hudson ผู้ให้ความรู้ทางเทคนิคด้านการช่วยการเข้าถึงที่ Apple และยังเป็นส่วนหนึ่งของทีมดั้งเดิมที่อยู่เบื้องหลัง VoiceOver ซึ่งเป็นตัวอ่านหน้าจอที่ช่วยให้ผู้ที่มองไม่เห็นหรือมีปัญหาด้านการมองเห็นใช้ iPhone และ Mac ได้ กล่าวไว้ว่า “เทคโนโลยีที่ทุกคนเข้าถึงได้ควรมีความชัดเจนที่สุด” “ไม่ควรมีสิ่งใดๆ มากั้นระหว่างสิ่งที่ผมทำได้บน iPhone กับสิ่งที่คนปกติทำได้”
เพื่อเป็นเกียรติแก่วันครบรอบ 30 ปีของพระราชบัญญัติว่าด้วยชาวอเมริกันที่มีความทุพพลภาพ (ADA) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนพิการและเหล่าศิลปิน พร้อมด้วย Hudson จะมาแบ่งปันความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของตัวกฎหมายจนถึงปัจจุบัน เทคโนโลยีที่พวกเขาใช้ และสิ่งที่สังคมยังต้องพัฒนาเพื่อผู้พิการ ด้านล่างนี้เป็นเรื่องราวชีวิตของบุคคลเหล่านี้
ในตอนที่ผมยังเด็ก พ่อแม่ของผมเข้าร่วมกลุ่มสนับสนุนสำหรับผู้ปกครองของเด็กตาบอดอย่างจริงจังมาก พวกท่านได้รู้จักกับ ADA ในตอนนั้น ผมเคยได้ยินคำนี้มานานแล้ว แต่ก็ไม่ได้เข้าใจความหมายจริงๆ ของมันจนกระทั่งผมโตขึ้น
ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าจำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อปกป้องประชาชนจากการเลือกปฏิบัติที่เกิดจากเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา และความพิการ กฎหมายสิทธิพลเมืองปูทางให้ ADA โดยการส่งเสริมความเท่าเทียมกัน ในฐานะที่เป็นชาวอเมริกันผิวดำที่มีความพิการ ผมจึงให้ความสำคัญกับ 2 เรื่องนี้เท่าๆ กัน เพราะทั้ง 2 เรื่องมีความสำคัญพอๆ กันในการปกป้องชาวอเมริกันจากการเลือกปฏิบัติ
ผมยังจำวันที่พ่อซื้อ iPod touch ให้ผมได้ ผมจำได้ว่าผมเคยสอนตัวเองใช้ VoiceOver ตอนนั้นผมดีใจมากผมใช้มันทุกวัน
ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์ผลงานในอัลบั้ม “Now Hear This” และ “Outta the Box” เขียนผลงานสักเพลง หรือแต่งและเรียบเรียงเพลง ผมก็พึ่งพาอุปกรณ์และแอพต่างๆ ได้เสมอ
เมื่อพร้อมที่จะอัดเพลง ผมจะใช้ Logic Pro X บน MacBook Pro ผมมักจะเริ่มโดยการอัดเสียงกลองเป็นอย่างแรก จากนั้นเพิ่มเบส แล้วเพิ่มเสียงอื่นๆ ที่ผมต้องการ ด้วย VoiceOver ผมสามารถใช้งานซอฟต์แวร์ได้โดยไม่สะดุด เมื่อผลงานเสร็จสมบูรณ์แล้ว ผมก็สามารถแชร์กับคนอื่นได้ จากนั้นผมจะสร้างเพลงอักษรเบรลล์โดยใช้ซอฟต์แวร์ Lime Aloud โดย Dancing Dots ซอฟต์แวร์นี้ไม่เพียงแค่ช่วยสร้างเพลงอักษรเบรลล์ แต่ยังช่วยผมพิมพ์ชีตเพลงให้สมาชิกในวงอีกด้วย
เทคโนโลยีไม่ได้ช่วยแก้ไขอุปสรรคทุกอย่างให้กับคนตาบอด แต่การเข้าถึงอุปกรณ์และแอพพลิเคชั่นที่จำเป็นในการใช้ชีวิตประจำวัน การสร้างสรรค์ดนตรี และการเป็นนักเรียนนั้นเป็นสิทธิ์ที่ชาวอเมริกันที่มีความพิการทุกคนควรมี
ฉันเติบโตในชุมชนที่ค่อนข้างยอมรับความแตกต่างมากกว่าหลายๆ ที่ ครูสอนให้ฉันเล่นสกีก่อนที่ฉันจะโตพอที่จะสงสัยว่าจะเล่นสกีได้อย่างไรถ้ามองไม่เห็น ไม่เคยมีคำถามว่า “คนตาบอดทำได้ไหม” แต่เราจะถามว่า “คนตาบอดจะทำได้อย่างไร” แทน
ในตอนที่เป็นนักเรียนหูหนวกตาบอดในวิทยาลัย ฉันเห็นนักกฎหมายใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยชาวอเมริกันที่มีความทุพพลภาพเพื่อบังคับให้บริษัทเทคโนโลยีพัฒนาบริการดิจิตอลที่ทุกคนเข้าถึงได้ ฉันประทับใจในความสำเร็จของพวกเขามากและอยากที่จะเข้าร่วมด้วย ตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงปัจจุบัน ฉันพบกับอุปสรรคมากมายในโลกดิจิตอลมาตลอด เหตุผลไม่ได้มาจากความพิการของฉัน แต่เป็นทัศนคติในหมู่นักพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่ค่อยคำนึงถึงผู้พิการ
ในปี 2010 ฉันได้เป็นนักเรียนหูหนวกตาบอดแรกของโรงเรียนกฎหมายฮาร์วาร์ด เทคโนโลยีที่ออกแบบมาโดยคำนึงถึงการช่วยการเข้าถึงช่วยให้ฉันมีส่วนร่วมในชั้นเรียนและทำการวิจัยทางกฎหมายได้ ส่วนใหญ่แล้ว การศึกษาของฉันจะเน้นไปที่เรื่อง ADA และเทคโนโลยี ในช่วงปีที่สอง ศาลแขวงแห่งสหรัฐอเมริกาประจำแขวงแมสซาชูเซตส์ออกกฎหมาย ADA ที่ครอบคลุมถึงธุรกิจออนไลน์ ในตอนนั้นฉันดีใจสุดๆ ในปี 2013 ฉันสำเร็จการศึกษาและเข้าร่วมแคลิฟอร์เนียบาร์ (California Bar) และเริ่มดำเนินคดีที่เกี่ยวกับ ADA
ฉันเป็นตัวแทนของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งชาติในคดีฟ้องร้องบริษัท หนึ่งที่ออกแบบห้องสมุดที่ปิดกั้นไม่ให้คนตาบอดอ่าน eBook และ เอกสารจำนวนมาก คดีดังกล่าวเป็นแบบอย่างทางกฎหมายเนื่องจากคำตัดสินของศาลครั้งแรกในศาลอุทธรณ์เขตที่ 2 และครั้งที่สองในศาลประเทศมีกำหนดให้ความเท่าเทียมกันที่ระบุใน ADA มีผลบังคับใช้ต่อสถานที่ในโลกออนไลน์ ตั้งแต่นั้นมา เราได้ทำคดีที่เกี่ยวกับการบังคับใช้ ADA ในโลกออนไลน์อีกเป็นจำนวนมาก
หลังทำคดีเกี่ยวกับ ADA ได้สองสามปี ฉันก็ผันตัวเองเข้าสู่การเป็นนักให้คำปรึกษา นักพูด และนักเขียน ชีวประวัติของฉัน “Haben: The Deafblind Woman Who Conquered Harvard Law” สอนคนเกี่ยวกับการดูแคลน ซึ่งเป็นความคิดที่ว่าคนพิการต้องด้อยกว่าคนปกติ การที่เราทราบว่าการดูแคลนคืออะไรจะช่วยให้เราระบุและกำจัดสิ่งนี้ไปได้
ในตอนที่ฉันอายุ 7 ขวบ แม่ซื้อกล้องโพลารอยด์ให้ฉัน และฉันก็จัดงานถ่ายภาพที่สนามหน้าบ้าน นั่นคือตอนที่ฉันรู้ว่าฉันถูกชะตากับอาชีพที่อยู่หน้ากล้อง แต่ในทุกวันนี้ การรวมคนพิการไว้ในการโฆษณา ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ หรือสื่อวัฒนธรรมป๊อปต่างๆ ยังคงเป็นเรื่องที่ถูกกีดกันอย่างมาก
เมื่อฉันไป LA เมื่อ 10 ปีที่แล้ว หลายๆ คนบอกให้ฉันไปลองเข้าสังคมดู ฉันพยายามไปอีเวนท์ต่างๆ แต่แค่เข้าห้องฉันยังทำไม่ได้เลย เพราะไม่มีทางเข้าสำหรับรถเข็น มีภาพยนตร์หลายๆ เรื่องที่มีตัวละครเป็นผู้พิการออกมา แต่ไม่มีนักแสดงคนไหนเลยที่เป็นผู้พิการจริงๆ ในวงการนี้เราเรียกว่า “แกล้งเป๋” ชุมชนชายขอบอื่นๆ ยังได้รับการสนับสนุนจากการเรียกร้องเรื่องการแสดงที่ไม่สมจริง แต่ตอนนั้นไม่มีใครพูดถึงการแสดงเป็นผู้พิการที่ไม่สมจริงเลย นั่นคือเหตุผลที่ฉันเริ่มโครงการ Accessible Hollywood กลุ่มนักเคลื่อนไหวของฉันเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตและการดำรงชีพของชุมชนนี้
ฉันเป็นนักธุรกิจ ฉันทำธุรกิจของตัวเองในแบบคนผิวดำและคนพิการ และเป็นเรื่องยากมากที่จะเข้าถึงทุกอย่างได้ ฉันเป็นอัมพาตตั้งแต่เอวลงมาเนื่องจากความบกพร่องของกระดูกไขสันหลังซึ่งมาจากภาวะหลอดประสาทไม่ปิด ฉันจึงต้องใช้มือทำทุกอย่าง ฉันใช้มือผลักเก้าอี้ ทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ เช่น แต่งตัวตัวเอง และทำงานพิมพ์ทุกอย่าง ไม่ว่าจะการคัดลอกบนโทรศัพท์และไปวางในแล็ปท็อป การตั้งการแจ้งเตือนใน HomePod, การใช้การเปลี่ยนเสียงเป็นข้อความ ไปจนถึงการพูดว่า "หวัดดี Siri ตั้งกำหนดการประชุมให้ที" และการใช้คำสั่งลัด Siri เพื่อทำให้สิ่งต่างๆ ด้วยเสียงอย่างรวดเร็ว การมีระบบนิเวศของ Apple ครบวงจรในบ้านนั้นช่วยให้ฉันประหยัดทั้งเวลา กระบวนการคิด และพลังงานด้วยเพียงแค่การใช้มือ
ในฐานะที่เป็นผู้พิการในหลายๆ ด้านที่ต้องการสร้างธุรกิจของตัวเอง เทคโนโลยีทำให้ชีวิตของฉันง่ายขึ้นมาก ฉันต้องการให้ทั่วโลกมองเห็นชุมชนผู้หญิงพิการผิวดำ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ฉันประสบความสำเร็จอย่างมากในการเป็นนางแบบและนักแสดงถึงแม้จะมีอุปสรรคมากีดกั้นก็ตาม ในปี 2018 ฉันได้รับรางวัลเกียรติยศสำหรับการสนับสนุนการยอมรับความแตกต่างในฮอลลีวูดในฐานะผู้หญิงผิวสีคนแรกที่ได้รับทุน Christopher Reeves Actor Scholarship ฮอลลีวูดกำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้องด้วยภาพยนตร์และรายการทีวีที่ยอดเยี่ยมมากมายที่ใช้การแสดงจากคนที่พิการจริงๆ ฉันรู้สึกยินดีที่มีโอกาสได้ช่วยผลักดันเรื่องนี้
ย้อนกลับไปในช่วงปลายปี 1970 พี่ๆ น้องๆ จะอ่านคู่มือคอมพิวเตอร์ให้ผมฟัง และผมก็จะพิมพ์ลงในโปรแกรม ตอนนี้ผมสนใจเกี่ยวกับการทำให้สิ่งต่างๆ แสดงขึ้นบนหน้าจอมาก ผมสมัครเรียนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และต้องมีคนไปเข้าเรียนแทนผมในวิทยาลัยเพื่ออ่านหน้าจอให้ผมฟัง เพราะตอนนั้นเรายังไม่มีตัวอ่านหน้าจอ
ผมมาร่วมงานกับ Apple ในปี 2006 ในตอนที่ทีมของผมเริ่มพัฒนา VoiceOver สำหรับ iPhone มีการสำรวจในหลายๆ เรื่อง เช่น สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคุณแตะรายการบนหน้าจอ iPhone ผู้ใช้มีสายตาดีสามารถมองเห็นและตัดสินใจได้ว่าจะแตะที่ไหน แต่ผมต้องแตะเพื่อที่จะเห็นภาพ การทำซ้ำหลายๆ ครั้งนำไปสู่การสำรวจอย่างปลอดภัย โดยที่หากคุณต้องการเปิดใช้งานบางอย่างบน iPhone คุณสามารถแตะสองครั้งที่ใดก็ได้บนหน้าจอ เมื่อ iPhone 3G S เปิดตัวมาพร้อม VoiceOver ในปี 2009 ผู้คนก็เริ่มเข้ามาใช้ iPhone เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และตอนนี้มันก็น่าทึ่งมากที่ได้เห็นคนตาบอดและคนพิการจำนวนมากใช้อุปกรณ์นี้
ทุกวันนี้ผู้คนใช้เทคโนโลยีในหลากหลายวิธี มีหลายความคิดเห็นที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของคุณสมบัติในผลิตภัณฑ์ของ Apple และความคิดเห็นเหล่านั้นสำคัญมาก ความคิดเห็นเหล่านี้ทำให้ผลิตภัณฑ์ปรับแต่งให้เข้ากับผู้ใช้ได้มากขึ้น
เมื่อคุณได้พบกับคนที่เป็นอัมพาตทั้งแขนและขา แต่สามารถเข้าสู่อพาร์ทเมนท์และใช้ชีวิตด้วยตนเองได้โดยใช้การควบคุมสวิตช์ หลังจากต้องการผู้ดูแลส่วนตัวตลอด 24 ชั่วโมงมาทั้งชีวิต เป็นเหมือนการมอบชีวิตใหม่ให้เลยทีเดียว 30 ปีหลังจากการลงนามใน ADA ผลลัพธ์เช่นนี้ทำให้เรารู้สึกว่ากฎหมายนี้มีประโยชน์มากจริงๆ ผมเคยไปโรงเรียนและขอให้ผู้อื่นอ่านโค้ดบนกระดานให้ฟัง แต่ตอนนี้ผู้คนสามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้และรับงานเป็นวิศวกรจริงๆ ได้ นั่นเป็นอะไรที่สุดยอดมาก
แชร์บทความ
รูปภาพของวันครบรอบ 30 ปีของ ADA